Goal & Growth Game

 

เป้าหมายอาจมิใช่ปลายทาง เพียงให้ค้นหา
ความงอกงามอาจปรากฏในระหว่างแห่งทาง เมื่อลองทำ

 


สมัครร่วมเล่นเกม

ติดต่อ ศูนย์สิกขา วัดญาณเวศกวัน
โทรศัพท์  ๐๒-๔๘๒-๗๓๖๕ และ ๐๓๔-๑๐๒-๓๗๓ กด ๒ 
LINE Official Account ID : @watonline
เกมนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเป้าหมาย หรือกำลังตามหาเป้าหมาย ของชีวิต การงาน และสังคม
อายุ ๑๖ ปี ขึ้นไป สามารถคิดคำนวณตัวเลข แก้สมการและวางแผนได้
(กรุณาเตรียม notebook หรือ tablet มาด้วย)

 

 | ลิงก์เริ่มเกม |
กลุ่ม 01    กลุ่ม 02    กลุ่ม 03    กลุ่ม 04    กลุ่ม 05

 


"...การที่เม็ดมะม่วงจะงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วงนั้น
ไม่ใช่มีแต่เม็ดมะม่วงอย่างเดียวแล้วจะได้ต้นมะม่วง
ต้องมีดิน มีปุ๋ยในดิน มีน้ำ มีแก๊ส (เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์) มีอุณหภูมิพอเหมาะ เป็นต้น
พูดสั้นๆ ว่าเมื่อปัจจัยพรั่งพร้อมแล้ว ต้นมะม่วงจึงจะงอกขึ้นมาได้ 
นอกจากผลที่เรามองจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างพรั่งพร้อมแล้ว
ปัจจัยแต่ละอย่างที่มาพรั่งพร้อมนั้น ก็สัมพันธ์ไปสู่ผลอย่างอื่นที่เราไม่ได้มองขณะนั้นด้วย
ดังได้พูดแล้วข้างต้น ได้บอกแล้วว่า
ให้มุ่งผลดีตามสภาวะเป็นหลักหรือเป็นแกนไว้ก่อน
ตอนนี้ก็มองดูว่ามีปัจจัยตัวไหนบ้างที่จะต้องทำให้ครบที่จะเกิดผลนี้
ต่อจากนั้น เมื่อยังต้องการผลดีด้านไหนอีก เช่นในทางสังคม เป็นต้น ก็พิจารณาให้ครบ
แล้วทำกรรมดีให้ได้เหตุปัจจัยพรั่งพร้อมที่จะเกิดผลดีตามที่ต้องการนั้น..."


จากหนังสือ "เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท และกรรม"


 
การกำหนดเป้าหมายในชีวิต ไม่ใช่การคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แต่คือความเข้าใจชีวิตที่แท้ 
ว่าเราเป็นอะไร มีศักยภาพอะไร จะพัฒนาได้อย่างไร ต้องทำเหตุปัจจัยอย่างไรบ้าง
จึงสมมติชีวิตเป็นเหมือนต้นมะม่วง ที่ต้องลองผิดลองถูกในการใส่ปุ๋ย และ น้ำ
ซึ่งเป็นตัวแทนของเหตุปัจจัยหลากหลาย
เพื่อให้ได้ผลผลิตคือ มะม่วง เปรี้ยว หวาน มัน ที่แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย

ในขณะที่ราคาตลาดก็บอกมาว่าราคามะม่วง เปรี้ยว หวาน มัน มีราคาแตกต่างกัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเราเป็นมะม่วงที่ดีที่สุด แบบของเรา คือแบบไหน?

ผู้เล่นจะได้ค้นหาตัวเอง และหาคำตอบว่าจะกำหนดเป้าหมายของชีวิตให้เป็นอย่างไร
และเป้าหมายนั้น ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้ความเข้าใจที่มี ทั้งต่อตนเอง และต่อโลกภายนอกด้วย


 

ถาม : การตั้งเป้าหมาย ก็จะเป็นการคาดหวัง ซึ่งเป็นเหตุของความทุกข์ ใช่หรือไม่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ตอบ : ไม่  ไม่ใช่อย่างงั้นแล้ว
การคาดหวังคือเอาเลย ต้องวางแผนจะเอายังไง มันควรจะเป็นโดยปัญญา
คือปัญญามองเห็นด้วยเหตุผลมันควรจะเป็นอย่างงี้ ตั้งเป้าเลย แล้วทำตามเหตุปัจจัยเลย
แล้วศึกษาเหตุปัจจัยทำตามเหตุปัจจัย
แล้วผลเกิดเท่าไหร่ สำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นไปตามเหตุปัจจัยรู้ตามนั้น
นี่ต่างหากที่สำคัญ  คือไม่ใช่เอาตัวความอยากของตัว
มันมีคาดหวังสองอย่าง (๑) คาดหวังด้วยความอยากเป็น Emotion
(๒) การคาดหวังด้วยปัญญา ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร
ทีนี้การคาดหวังนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จเรารู้ตามที่เหตุปัจจัยให้เป็นสำเร็จ
หรือไม่สำเร็จก็ให้เป็นตามเหตุปัจจัยของมัน
แม้แต่เวลารอผลก็ไม่เกิดทุกข์ ใช่ไหม
เพราะว่ามันมองที่มนุษย์ สำเร็จหรือไม่จะสำเร็จตามนี้ก็ตามเหตุปัจจัย
เมื่อไม่สำเร็จเราก็มองว่า เหตุปัจจัยอะไรขาดที่จะเกิดผลไม่ได้ หรือมีเหตุปัจจัยอื่นมาขัดแย้ง
เราก็ศึกษาต่อด้วยการมองแบบปัญญาอย่างนี้
ก็ตัดเรื่องของความยึดอยากของตัวเองที่จะให้เป็นตามปรารถนา ถูกไหม
มันคนละระบบเลยนะ
ปัญญาแท้ ๆ แล้วแม้แต่สำร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่ทุกข์ ใช่ไหม
ทีนี้เจ้าตัวตัณหาแท้ๆ นี่ ตอนแรกที่มันตัณหาแท้น่ะ ล้วน ๆ
มันจะมีแต่การอยากจะให้เป็นตามที่ตัวอยาก ไม่มีปัญญาเข้ามาเลย
ตอนนี้จะทุกข์เต็มที่เลย ไม่สำเร็จด้วยแล้วทุกข์เต็มที่ 
ต่อมาเริ่มเอาปัญญาเข้ามาช่วย แต่ว่าเป็นปัญญาสนองตัณหา
ต่อมาปัญญามันบริสุทธิ์ เอาตัณหาออกไปเสียได้ ก็เป็นปัญญาบริสุทธิ์
พอปัญญาบริสุทธิ์นี้ มีทั้งทำการสำเร็จด้วย เป็นทุกข์ด้วย ใช่ไหม
ไม่ใช่ปัญญา ปัญญาก็ต้องมีความรู้ปัญญาจะเป็นได้อย่างไร ว่าสิ่งใดควรจะเป็นอย่างไร
นี่สิเป็นปัญญาแท้ ใช่ไหม มันไม่ใช่เป็นความที่จะเป็นตามที่ปรารถนาเฉยๆ
แต่มันเป็นความที่ควรจะเป็นตามปัญญาบอก ใช่ไหม
หรือแม้แต่จุดหมายก็ต้องมีจุดหมายของปัญญา กับจุดหมายของตัณหาแล้ว
นี่เราต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนเพื่อสนองจุดหมายที่ปัญญาเห็นว่าควรจะเป็น
ไม่ใช่ไปสนองจุดหมายที่ตัณหาอยากให้เป็น ใช่ไหม...
 
จากธรรมบรรยายเรื่อง "ถึงไม่มีใครไปพามา ถ้าคนมีโยนิโสมนสิการ เขาก็มาเข้าทางที่ถูกได้ด้วยตัวเขาเอง"

 

"ญาณเวศก์.ออนไลน์" เป็นช่องทางสื่อธรรมแนวทดลอง ที่เริ่มต้นจาก "หอญาณเวศก์ธรรมสมุจย์" ซึ่งเป็นอาคารหลังหนึ่งในวัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม
ตั้งขึ้นเพื่อ "ประโยชน์อันกว้างขวางมั่นคงถาวรในการศึกษาค้นคว้างานทางพระพุทธศาสนา แก่นักศึกษาและผู้สนใจในกาลต่อไป"

เมื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น "การศึกษาค้นคว้างานทางพระพุทธศาสนา...ในกาลต่อไป" จึงไม่จำกัดอยู่เพียงอาคารหลังใดหลังหนึ่ง
หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย และไร้ข้อจำกัดด้านกาลเวลา

"ญาณเวศก์.ออนไลน์" จึงเกิดขึ้นเพื่อการทดลองนำเสนอสื่อธรรม ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ สมสมัย และสอดคล้องตามหลักพุทธธรรม
โดยมิได้มุ่งให้เกิดความเชื่ออย่างงมงาย หรือยึดติดในตัวบุคคล แต่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถาม ตรวจสอบ ศึกษา และนำไปสู่การพัฒนา ทั้งในระดับชีวิตของปัจเจกบุคคล และระบบสังคม ที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ และโลกทั้งมวล


เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง